เจนจัดชัดเจน : เมื่อยาบ้า...ร้ายน้อยกว่าเหล้า สํานักข่าวไทย 26 June 2016

ถอด”ยาบ้า”จากยาเสพติด ดีจริงหรือ? Mono29, 25 June 2016

กรมวิทย์ฯ เชิดชูผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์


     กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบรางวัล DMSc Award เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขจำนวน 6 รางวัล พร้อมมีการนำเสนอผลงานวิชาการในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 21 – 23 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

     นายแพทย์อภิชัย  มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่  21 – 23 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยปีนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานและพระราชทานโล่รางวัล DMSc Awards 2559 เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข ได้แก่การพัฒนางานทางห้องปฏิบัติการ การค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆ การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปีนี้มีรางวัลแบ่งเป็น 3 ประเภทผลงาน ได้แก่  ชนะเลิศประเภทการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  เรื่อง “การศึกษาวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการในประเทศไทย” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยที่ประกอบด้วยการศึกษาวิจัยอุบัติการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทย การรักษา การตรวจวินิจฉัย และการประเมินผู้ป่วยในมิติต่างๆ ที่จะส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวโดยเป็นผลงานตีพิมพ์ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาถึง 13 เรื่อง

     รางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “แนวปฏิบัติการล้างไตทางช่องท้อง” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งหนังสือเนื้อหากว่า 1,000 หน้า เป็นแนวปฏิบัติสำหรับแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างสมบูรณ์  และชนะเลิศประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “กรรมวิธีการตรวจหาและจำแนกเชื้อมาลาเรียในตัวอย่างเลือดด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคแอลเอฟดี” โดย ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผลงานประดิษฐ์การตรวจวินิจฉัยเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคแลมป์ (ตรวจสารพันธุกรรม) บนแผ่นสตริปซึ่งช่วยให้สามารถดูผลได้รวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกว่าเป็นมาลาเรียชนิด falciparum หรือ vivax ในแผ่นเดียวได้ด้วย

      ส่วนผลงานรองชนะเลิศมี 3 รางวัล  ได้แก่  ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยครบวงจรเพื่อพัฒนา   กวาวเครือขาวเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาผลของกวาวเครือขาวในการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยใช้หนูและลิงเป็นโมเดลการวิจัย และผลงานวิจัย เรื่อง “Plasmodium serine hydroxymethyltransferase for anti-malarial drug development” โดย ดร.อุบลศรี  เลิศสกุลพานิช  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผลการวิจัย ทาง proteomics พิสูจน์โครงสร้างเป้าหมายยาซึ่งเป็นกระบวนการค้นคว้ายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ และผลงานรองชนะเลิศสุดท้ายคือหนังสือ เรื่อง “โรคของไส้ตรงและทวารหนักที่พบบ่อย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วรุตม์ โล่สิริวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนังสือสำหรับแพทย์ว่าด้วยเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การใช้ยา และการผ่าตัดโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เรียบเรียงจากการศึกษาวิจัยและประสบการณ์ของผู้แต่ง

      นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ให้แก่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีผลการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก เช่นโรคเอดส์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการศึกษาวิจัยโรคเอดส์ทางห้องปฏิบัติการกว่า 20 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์  และโรคตับอักเสบ ร่วมศึกษาวิจัยไวรัสตับอักเสบทางห้องปฏิบัติการ จนส่งผลให้มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ใช้ในประเทศไทย เป็นต้น โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า   จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
สำหรับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปีนี้ ได้จัดภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences Smart Life : ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์”  ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมส่งผลงานวิชาการจำนวน 178 เรื่อง แบ่งเป็นผลงานวิชาการสาขานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 23 เรื่อง สาขาโรค 45 เรื่อง สาขาคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 67 เรื่อง สาขาสมุนไพร 24 เรื่อง และสาขาเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข 19 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จะมาบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย

Share this

Previous
Next Post »