กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้หญิงให้ระวังภัยจาก “จีเอชบี” ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับ หมดสติ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อมอมยา และล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในสถานบันเทิง
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จีเอชบี (Gamma-hydroxybutyrate) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงของยามาก และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิดเพิ่มขึ้น ทำให้ถูกเพิกถอนทะเบียนไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ปัจจุบันยังพบการใช้จีเอชบีในสถานบันเทิง มักถูกนำมาใช้ทดแทนยาอี เนื่องจากมีฤทธิ์ใกล้เคียงกัน
จีเอชบีมีทั้งที่เป็นผง เม็ด ในรูปแบบยา หรือในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสีและกลิ่น เมื่อรับประทานจีเอชบีเข้าไปจะทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับ ออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-20 นาที และออกฤทธิ์นาน 1.5-3 ชั่วโมง ถ้าใช้จีเอชบีร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยากดประสาทอื่นๆ จะทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการชัก กดการหายใจ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ในต่างประเทศพบรายงานการเสียชีวิตจากการใช้จีเอชบีค่อนข้างสูง รวมถึงพบการใช้สารที่มีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับจีเอชบี ได้แก่ จีบีแอล (Gamma-butyrolactone) และ 1,4-บิวเทนไดออล ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนให้เป็นจีเอชบี และทำให้เสพติดได้
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของเหลวใส ไม่มีสี เพื่อดำเนินคดี จำนวน 7 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบจีเอชบี แต่พบจีบีแอล 1 ตัวอย่าง และ 1,4-บิวเทนไดออล 6 ตัวอย่าง ทั้งนี้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่มีการควบคุมเป็นยาเสพติดตามอนุสัญญาสหประชาชาติ
และการควบคุมทางกฎหมายจะแตกต่างกันในหลายประเทศ
“จากข้อมูลการตรวจพิสูจน์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะพบว่านอกจากภัยร้ายสำหรับผู้หญิงจากการใช้จีเอชบีในทางที่ผิดแล้ว ยังพบแนวโน้มที่จะใช้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออลอีกด้วย และคาดว่าจะใช้ทดแทน จีเอชบีที่มีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยหญิงสาวไม่ควรเที่ยวในสถานบันเทิงเพียงคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย และระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะจากคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้” นายแพทย์อภิชัย กล่าวทิ้งท้าย