เจนจัดชัดเจน : เมื่อยาบ้า...ร้ายน้อยกว่าเหล้า สํานักข่าวไทย 26 June 2016

ถอด”ยาบ้า”จากยาเสพติด ดีจริงหรือ? Mono29, 25 June 2016

หมอชี้น้ำดื่มขวดพลาสติกเก็บในรถนานๆไม่ก่อสารพิษ ทดลองแล้ว อย่าหลงเชื่อโลกออนไลน์ - มติชนออนไลน์

วันที่ 2 มิถุนายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์เตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่เก็บในหลังรถยนต์และจอดกลางแดดโดยมีโอกาสได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติกเนื่องจากอากาศร้อนจัดอาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งอื่นๆ ได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัวถึงอันตรายจากการดื่มน้ำบรรจุ ขวดพลาสติก

 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งมีภารกิจ ในการวิเคราะห์ วิจัยทางด้านไดออกซิน น้ำดื่ม และวัสดุสัมผัสอาหาร  ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคดังนี้ สารไดออกซิน (Dioxins) เป็นชื่อกลุ่มสารที่มีโครงสร้างและสมบัติทางเคมีใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และสารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล ที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs) ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน  
  
นพ.อภิชัย กล่าวว่ากระแสข่าวเรื่องไดออกซินละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ร้อนๆ เช่น หลังรถยนต์นั้น เป็นเหมือนเรื่องเล่าต่อๆ กันมาโดยปราศจากแหล่งข้อมูลที่แน่ชัด ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้ 

ความจริงคือขวดพลาสติกขนาดเล็ก ปัจจุบันมีอยู่2ชนิดคือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติกชนิด PE (พอลิเอทิลีน) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิด PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น 

สำหรับขวดบรรจุน้ำชนิดเติมซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20ลิตรมี3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก  ชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) และขวดพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะท้าให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค
   
 "เพื่อความชัดเจน ห้องปฏิบัติการไดออกซิน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ  และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน 17 ตัว และพีซีบี  18 ตัว 

โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง ดังนั้น จึงอยากเตือนผู้บริโภคควรพิจารณาแหล่งของข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับจากสื่อสังคมออนไลน์และตรวจสอบที่มาด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
   
อนึ่ง สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แหล่งกำเนิดสำคัญของสารกลุ่มนี้คือกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น การสร้างกลุ่มสาร ไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้

ที่มา : มติชนออนไลน์

ถามตรงๆ กับจอมขวัญ : แป้ง = มะเร็ง กับ นพ.อภิชัย มงคล | 25-02-59 | ไทยรั...

`แตงโม` แดงจัดฉีดสีหรือไม่


         ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตว่าแตงโมที่มีสีแดงเข้มและหวานจัดอาจจะมีการฉีดสีหรือสารให้ความหวานนั้น แม้จะมีคนโพสต์ต่อว่าเป็นข้อมูลมั่ว แต่หลายคนก็ยังมีข้อกังขาอยู่
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ช่วงหน้าร้อนคนกินแตงโมเยอะ กินไปกินมาก็มีข้อสงสัยว่า ทำไมหวานดี หวานจัด สีแดงมาก และมีข้อสงสัยอยู่เรื่อย ๆ ว่าใส่สีหรือเปล่า เพิ่มสารให้ความหวานเข้าไปหรือเปล่า เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย
          เรื่องนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยทำการศึกษามาแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตลอดเวลา ซึ่งผลการศึกษาก่อนหน้านั้น ได้ทำการตรวจวิเคราะห์สีสังเคราะห์ในแตงโมที่เก็บตัวอย่างมาจากหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีส้ม สีชมพู ก็ไม่พบสีสังเคราะห์แต่อย่างใด
          ส่วนความหวานที่สงสัยว่าใส่วัตถุหรือสารให้ความหวานลงไปหรือเปล่า ผลการตรวจวิเคราะห์ก็ไม่พบสารให้ความหวาน ไม่ว่าจะเป็น ซัคคาริน, อะซีซัลเฟม เค, แอสปาแตม และไซคลาเมต อย่างไรก็ตามได้ทำการตรวจวิเคราะห์สารต้องสงสัยทุกชนิดปรากฏว่าไม่พบเช่นเดียวกัน
          จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า แตงโมไทยไม่มีการใช้สีสังเคราะห์เพื่อให้สีสดสวย และไม่มีการใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย เพื่อเพิ่มความหวานแต่อย่างใด
          นักวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ความเห็นว่า ผลไม้จะมีลักษณะป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ถ้าเกิดมีใครแผลงฉีดสารอะไรเข้าไปในแตงโมจะทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และทำให้แตงโมเน่าและเสียง่าย ดังนั้นจึงไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้น
          ความหวานและสีของแตงโมไทยเป็นคุณสมบัติเด่นของผลไม้โดยแท้ ระหว่างการเพาะปลูก เกษตรกรจะใช้เทคนิค เช่น ลดการให้น้ำ ให้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ก่อนเก็บเกี่ยว ทำให้แตงโมมีรสหวานและสีสดสวยตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหน้าร้อนแตงโมจะมีสีเข้มมาก
          นอกจากการตรวจวิเคราะห์หาสีสังเคราะห์ และสารให้ความหวานซึ่งไม่พบแล้ว กรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ยังได้ตรวจวิเคราะห์ปริมาณการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามผิวของแตงโม ปรากฏว่าพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ แต่พบในปริมาณต่ำ ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด แต่เพื่อความปลอดภัยก่อนนำแตงโมไปผ่ารับประทาน หรือพ่อค้าแม่ค้านำไปผ่าขายโดยหั่นเป็นชิ้น ๆ ใส่ถุง ควรล้างเปลือกให้สะอาดก่อน จะทำให้ลดปริมาณสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยจากการได้รับสารพิษตกค้างด้วย
          สรุปว่า แตงโมไทยมีความปลอดภัย ไม่มีการฉีดสี หรือสารให้ความหวาน ผู้บริโภคสบายใจได้ในการรับประทานแตงโมไทย ผลไม้ที่มีประโยชน์และปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรไทยอีกทางหนึ่งด้วย


          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
          ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

ข่าวสัมภาษณ์เรื่อง เนื้อแปรรูป และมะเร็งลำใส้ใหญ่ ช่อง 9


น้ำขวดตากแดดเสี่ยงมะเร็ง?


นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่าจากการทดลองตรวจไม่พบสารไดออกซิน ที่เป็นตัวก่อมะเร็งเลยแม้แต่นิดเดียว โดยสารไดออกซิน ที่พบอาจเกิดจากกระบวนการเผา –อุณหภูมิ – สารตั้งต้น และจากการตรวจสอบทราบว่ากระบวนการผลิตขวดน้ำในปัจจุบันไม่ได้มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ


โดยข่าวลือที่ออกมานั้น มีต้นต่อมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2002ก่อนจะลามมาไทย ทำให้กรมฯ วิทย์ต้องออกมาพิสูจน์ให้เห็น โดยทดลองน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกจำนวน 18 ยี่ห้อ 5 ประเภท ทั้งขวดใส ขวดขุ่น ขวดใหญ่ มาทิ้งไว้ในสถานการณ์จริง ตากแดด 7 วัน ก่อนนำไปทดสอบใน Labตรวจทั้งหมด 35 อย่าง แต่ไม่พบเลย


ทั้งนี้ข่าวลือที่เกิดขึ้น คือ กลัวการเป็นมะเร็ง  มีผลต่อฮอร์โมนเพศ เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งในต่างประเทศมีการตรวจสอบแล้วไม่พบ พร้อมชี้ว่าสิ่งที่ประชาชนควรกังวล คือ การดื่มน้ำไม่เพียงพอ เชื้อโรคจากสิ่งอื่นๆ เช่น น้ำแข็ง ไม่ใช่สารก่อมะเร็งตามที่ลือ ย้ำกรณีน้ำดื่ม-น้ำขวดนี้ ปัญหาแบคทีเรียน่ากังวลกว่าสารเคมี


สำหรับ “น้ำขวด” มีวันหมดอายุ โดยปกติอยู่ที่ 2 ปี ในภาชนะที่บรรจุ ที่อาจเกิดรอยรั่วหรือแตก ได้ ตามโครงสร้างของพลาสติก แต่ไม่อยากให้วิตกกังวลเกินไป แนะนำหากเปิดขวดดื่มแล้ว ควรดื่มให้หมดภายใน 1-2 วัน ถ้าเปิดดื่มยกซดแล้วทิ้งไว้ 7 วัน ไม่ได้ เพราะเป็นการเพาะเชื้อแล้ว ดังนั้นควรดื่มให้หมด


นอกจากนี้ ขวดน้ำพลาสติก ถูกออกแบบให้ใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ควรใช้ซ้ำหลายครั้ง เพราะจะไม่สามารถทำความสะอาดได้ อาจก่อให้เกิดเชื้อโรค

ที่มา: http://morning-news.bectero.com/jaokhoden/03-Jun-2014/18715

ผลการตรวจน้ำส้มคั้นบรรจุในภาชนะปิดสนิท


สำนักสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจตัวอย่างน้ำส้มคั้นบรรจุขวด พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง

ายแพทย์อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำส้มคั้นสดในภาชนะปิดสนิท ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บจากสถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี จำนวน 12 ตัวอย่าง  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี เก็บจากอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 3 ตัวอย่าง รวมทั้งหมด 15 ตัวอย่าง  ตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี ได้แก่ วัตถุกันเสีย สารให้ความหวาน  สีสังเคราะห์ และตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยาได้แก่ เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ  และจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะโดยห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559

ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี  จากทั้งหมด 15 ตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 13) พบว่ามีการใช้วัตถุกันเสีย จำนวน 6 ตัวอย่าง ซึ่งมีเพียง 1 ตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยพบปริมาณกรดเบนโซอิค 312 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกรดซอร์บิค 228  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (กฎหมายกำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิครวมกับกรดซอร์บิคในเครื่องดื่มได้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)  และมีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดซัคคาริน จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ อยู่ในช่วง 13-32.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด (ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)  สำหรับตัวอย่างที่เก็บจากจังหวัดสระบุรี จำนวน 3 ตัวอย่าง ตรวจพบซัคคาริน และสีสังเคราะห์ในทุกตัวอย่าง แต่สีที่ตรวจพบเป็นสีสังเคราะห์ที่อนุญาตให้ใช้ ได้แก่ Tartrazine, Sunset yellow FCF, Ponceau 4R อย่างไรก็ตาม มี 1 ตัวอย่างที่ใช้ปริมาณสีเกินเกณฑ์กำหนดโดยพบว่ามีการใช้ Tartrazine 50.1 ร่วมกับ Ponceau 4R 5.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  (กฎหมายกำหนดให้มีสี Tartrazine รวมกับ  Ponceau 4R ได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)

สำหรับการตรวจคุณภาพทางจุลชีววิทยา จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง เนื่องจากตรวจพบจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะเกินมาตรฐาน คือ ตรวจพบปริมาณยีสต์และราเกินในทุกตัวอย่าง พบโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง และพบอีโคไล 6 ตัวอย่าง แต่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า โดยปกติแล้วน้ำส้มคั้นสดๆ ถ้าตั้งทิ้งไว้จะมีตะกอนเนื้อส้มอยู่ด้านล่าง หากไม่มีตะกอนเลย เป็นน้ำสีส้มใสๆ อาจเป็นน้ำส้มผสม เมื่อเปิดขวดแล้วให้ลองดมกลิ่น ถ้าเป็นน้ำส้มคั้นสดจะมีกลิ่นส้มธรรมชาติ หากไม่มีกลิ่นอะไรเลย หรือกลิ่นจางมากๆ ไม่ใช่น้ำส้มคั้นสด เพราะน้ำส้มคั้นสดทั่วไปต้องมีสี กลิ่น รสตามธรรมชาติของส้ม และหากดื่มแล้วรู้สึกว่ารสชาติแปลกๆ ควรทิ้งไป

กรมวิทย์ฯ หนุนยาสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล



      กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐพัฒนาคุณภาพยาจากสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล  พร้อมจัดทำตำรายามาตรฐานสมุนไพรไทย เพื่อใช้อ้างอิงการขึ้นทะเบียนและควบคุมคุณภาพตำรับยาสมุนไพร ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพยาสมุนไพรไทย
       นายแพทย์อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ (บ่ายวันนี้ 9 มิ.ย. 2559) ว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยมีมากขึ้น คิดเป็นมูลค่าการใช้ราวปีละ 10,000 ล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายการใช้สมุนไพรแห่งชาติ เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันให้มากขึ้น เป็นการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยาสมุนไพรไทยมีโอกาสและความท้าทายที่สำคัญในการให้บริการสาธารณสุขและเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้ส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐในการพัฒนาสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
        อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาล ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก ได้เข้าไปให้การสนับสนุนโดยการตรวจประเมินและควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร การตรวจสอบปริมาณสารสำคัญ การตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก เชื้อจุลินทรีย์ ยาฆ่าแมลง ทั้งในรูปแบบผงยาสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำเร็จรูป  มีการตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพสมุนไพรสำเร็จรูป เพื่อดูความก้าวหน้าในการปรับปรุงสถานที่ผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร ให้ได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร (GMP) พร้อมได้ให้คำแนะนำและแนวทางการปรับปรุงแก้ไข ส่งผลให้ รพ.พิชัยรับการตรวจประเมินผ่านมาตรฐานการผลิตยาแผนโบราณจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และได้ดำเนินการผลิตยาสมุนไพรให้กับโรงพยาบาลทั้งในและต่างจังหวัด เช่น โครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โครงการผลิตยาเพื่อออกหน่วย พอ.สว. เป็นต้น นอกจากนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก ได้ร่วมกับ รพ.พิชัย ในการดำเนินการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นให้คุ้มค่า โดยการส่งเสริมให้ รพ.ผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและเครื่องสำอางผสมสมุนไพรขึ้นใช้ในโรงพยาบาล และหอพักผู้ป่วยให้ได้คุณภาพ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน เจลล้างมือ เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนการสั่งซื้อและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
                "ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการจัดทำตำรามาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร และเป็นมาตรฐานอ้างอิงเพื่อการส่งออกนำเข้าสมุนไพร รวมทั้งใช้อ้างอิงการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณและยาพัฒนาจากสมุนไพร  โดยตำราดังกล่าวได้บรรจุอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุตำรายา พ.ศ.2556 เพื่อบังคับใช้เป็นตำรายาอ้างอิงของประเทศ   ซึ่งปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงดำเนินการจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมชนิดของยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นตามบัญชียาหลักแห่งชาติ  และในปัจจุบันแนวโน้มการใช้สมุนไพรในเครื่องสำอางมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงพัฒนาวิธีวิเคราะห์สมุนไพรในเครื่องสำอางและต้องการให้ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตเครื่องสำอางมีความเข้าใจในเรื่องของคุณภาพและการผลิตเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร เช่น มะหาด มะขาม มะรุม มะพร้าว และทับทิม” นายแพทย์อภิชัยกล่าว

กรมวิทย์ฯ สนองนโยบายรัฐเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจชุมชนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

                กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งเสริมความรู้ ด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพเครื่องสำอางที่ผสมสมุนไพรไทย ให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและการรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ


                นายแพทย์อภิชัย  มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าจากนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ และมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมีการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว พบว่าวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ และการปนเปื้อนทางเคมี เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ผลิตพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน มีสาเหตุมาจากผู้ผลิตบางส่วนขาดความรู้ทางด้านวิชาการในการผลิตเครื่องสำอางที่ถูกต้อง
                จากข้อมูลปัญหาดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย จึงได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำโครงการ “ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตและการควบคุมคุณภาพเครื่องสำอางผสมสมุนไพร” ขึ้น เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางผสมสมุนไพรในระดับชุมชน หรือ SME ให้มีความรู้ในการผลิต โดยหลักสูตรการอบรมประกอบด้วยการเตรียมสูตรตำรับ เทคโนโลยีการแปรรูปสมุนไพร รวมทั้งการควบคุมคุณภาพเครื่องสำอางผสมสมุนไพรให้เป็นไปตามหลักวิชาการ และมาตรฐานกำหนด เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นำสินค้ามาจัดแสดงเพื่อขอรับคำแนะนำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย


                นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมดังกล่าวจะจัดทั้งหมด 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่ จ.พิษณุโลก ภาคกลางที่ จ.สมุทรสงคราม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุดรธานี และภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นต้นโดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมจากทั้ง 4 ภาค รวมทั้งสิ้นกว่า 140 กลุ่ม และจากการอบรมครั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องสำอางผสมสมุนไพร และวัตถุดิบสมุนไพรให้มีคุณภาพ ส่งผลให้สินค้ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน รวมทั้งเกิดเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้จำหน่าย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดในกลุ่มอาเซียนต่อไป 


กรมวิทย์ฯ โชว์นวัตกรรมลีโอแทรปทางเลือกใหม่ในการกำจัดยุง



                กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแมลงและสัตว์หลายชนิดสามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อม และดื้อต่อสารเคมี ก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการควบคุมและป้องกันโรคจากแมลงและสัตว์ พร้อมโชว์นวัตกรรม "กับดักไข่ยุงลีโอแทรป"(Leo-Trap)ล่อให้ยุงเข้ามาวางไข่เพื่อกำจัดลูกน้ำตัดวงจรชีวิตยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออกและไข้ซิก้า

                นพ.อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุข โดยอาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรมจากการวิจัย" ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี ว่า ชีววิทยาของแมลงและสัตว์แต่ละชนิดจะปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดยังสามารถปรับตัวจนเกิดการดื้อต่อสารเคมีได้อีกด้วย ซึ่งมีสัตว์และแมลงบางชนิดเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้ซิก้า ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ ลิชมาเนียและโรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น ประกอบกับ   สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีลักษณะอากาศและอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแมลงเป็นอย่างดี จึงมักประสบปัญหาสาธารณสุขที่เกิดจากแมลงที่มีอยู่หลายชนิด ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนจนสามารถดำเนินการควบคุมและป้องกันการกำจัดแมลงได้ด้วยตนเอง  ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน  ปรับกลยุทธ์  การกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข โดยการบูรณาการความรู้ที่เป็นปัจจุบันและเทคนิคที่ทันสมัยใน  การป้องกันและกำจัดแมลงที่สำคัญทางการแพทย์ พร้อมถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชน ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
                นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อกำจัดแมลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนานวัตกรรมกับดักไข่ยุงลีโอแทรป (Leo-Trap) ขึ้น มีหลักการทำงาน คือใช้สารสกัดจากหอยลายที่ยุงชอบ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์สารดึงดูดใส่ไว้เป็นตัวล่อยุงให้บินเข้ามาในกับดัก ซึ่งได้ออกแบบกับดักคล้ายโอ่งสีเขียวและดำ มีฝาให้เกิดร่มเงานำไปทดสอบในสภาพธรรมชาติ จนกระทั่งพบว่ากับดักสีดำที่มีฝาสูง ภายในมีซีโอไล้ท์กำจัดลูกน้ำยุงลาย สามารถดึงดูดยุงเข้ามาติดกับดักและวางไข่มากที่สุด ถ้าใช้กับดัก 1 สัปดาห์จะช่วยกำจัดลูกน้ำยุงได้ประมาณ 500 ตัว   แม่ยุง 1 ตัวจะวางไข่ได้ 300-500 ฟอง จึงสามารถตัดวงจรการเกิดโรคที่นำโดยยุงลายได้ ขณะนี้นวัตกรรม     "กับดักไข่ยุงลีโอแทรป" อยู่ระหว่างยื่นขอจดนวัตกรรมไทยเพื่อนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้เอง ลีโอแทรปจีงเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในการนำไปใช้กำจัดยุงลายได้ด้วยตนเอง

THAILAND HOSTED THE 4th VIDEO CONFERENCE ON GLOBAL HEALTH SECURITY AGENDA (GHSA): DETECT 1: NATIONAL LABORATORY SYSTEM


Chaired by Dr. Apichai Mongkol, Director General of the Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand, 7 pm (Thailand Time),  31 May 2016, the video conference was attended by representatives of all lead countries of GHSA: Detect 1 including USA, South Africa,  and Thailand as well as WHO and USAID, highlights are as follows;


1. Discussed and supported the draft Regional Strategic Roadmap on Laboratory Strengthening [2016- 2020] proposed by Thailand aiming for providing countries a general guidance to countries in developing the National Roadmap on GHSA: Detect 1 and serving as a monitoring framework;
2.  Noted an update on the 1st Regional Workshop to be held in Bangkok, Thailand on 27 29 July 2016  which expecting about 100-120 participants from lead countries, contributing countries, ASEAN and SAARC countries, as well as key development partners; and
3 Noted an update on the Face-to-Face Meeting of Lead Countries on 28 July 2016, Bangkok, Thailand as a platform to discuss and provide direction in accelerating an implementation of the Regional Strategic Roadmap on Laboratory System Strengthening [2016-2020].

GHSA, launched in 2014 to promote global health security as an international security priority, aims to enhance and complement an implementation of an International Health Regulation 2005 through identified 11 Action Packages. Among others, Thailand takes leadership on the two Action Packages including “Detect 1: National Laboratory System Strengthening” “Detect 5: Workforce Development”.

Contacted Person
MrKanate Temtrirath
Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health
88/7 Tiwanon RdAmphoe Muang, Nonthaburi, Thailand 11000
Tel: 02 589 0022, 02 951 000

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนอันตรายจากเห็ดพิษ


       ศูนย์พิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยในแต่ละปีได้รับตัวอย่างเห็ดพิษที่ส่งมาตรวจจำนวนมาก พบว่าไม่สามารถแยกความแตกต่างของเห็ดพิษได้จากลักษณะภายนอก เพราะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้บางชนิดคล้ายคลึงกันมาก  โดยเฉพาะระยะดอกอ่อน ปัจจุบันจึงได้พัฒนาวิธีการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์เห็ดพิษ โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด (DNA barcoding) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำสูง เชื่อถือได้ และเตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้น

     นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีช่วงต้นฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาประกอบอาหาร รวมทั้งการนำไปขาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า เห็ดที่เก็บมานั้นไม่มีพิษ โดยใช้ความรู้พื้นบ้านที่บอกต่อกันมา แต่ตามลักษณะภายนอกของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้บางชนิด  มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระยะดอกอ่อนของเห็ด จะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งความรู้และความเชื่อที่สอนสืบทอดกันมาในการทดสอบเห็ดพิษ เช่น การนำข้าวสารมาต้มกับเห็ดถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือการสังเกตดอกเห็ด  ที่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกินจะเป็นเห็ดไม่มีพิษนั้น วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถให้ผลถูกต้องทั้งหมด จึงไม่ควรนำมาปฏิบัติ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

      ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประเมินสถานการณ์การเกิดพิษ  จากการรับประทานเห็ดพิษในประเทศไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2558 อุบัติการณ์ดังกล่าวพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็ดพิษมีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น เห็ดระโงกหิน ซึ่งปริมาณสารพิษที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการรับประทานเห็ดสดประมาณครึ่งดอก จัดว่าเป็นสารพิษในเห็ดร้ายแรงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว นอกจากนี้ยังมีเห็ดบางชนิดที่โดยปกติตัวเห็ดเองไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะปรากฏเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24-72 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับประทานเห็ดชนิดนั้น จะมีอาการหน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรง เห็ดที่พบสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เห็ดน้ำหมึก เป็นต้น
       อาการของผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดว่ามีสารพิษอยู่ในกลุ่มใด อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง การกินไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมงหรือหลายวัน หรือในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตภายใน 1-8 วัน สาเหตุเกิดจากการที่ตับและไตถูกทำลาย ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าสู่ร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ
        นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้พัฒนาวิธีการตรวจสายพันธุ์เห็ดพิษ  โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด (DNA barcoding) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยใช้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอมาตรฐานเทียบกับฐานข้อมูลอ้างอิงทางพันธุกรรม ซึ่งผลการศึกษาการใช้เทคนิคดังกล่าวพบว่าให้ผลวิเคราะห์สายพันธุ์เห็ดพิษที่ถูกต้องแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ เทียบเท่าการตรวจด้วยเครื่องมือชั้นสูง LC-MS นอกจากนี้ยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน จัดทำเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมระดับโมเลกุลของเห็ดพิษในประเทศไทยและจะมีการพัฒนาเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้นต่อไป

กรมวิทย์ฯ ใช้เทคนิคใหม่ตรวจจำแนกเชื้อแบคทีเรีย/เชื้อรา รู้ผลเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  เตรียมความพร้อมรับภัยคุกคามด้านสุขภาพจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ก่อโรคในคน  โดยนำเทคนิคการตรวจจำแนกแบบใหม่ด้วยเครื่อง MALDI-TOF  MS สามารถตรวจวินิจฉัยจำแนกเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้อย่างรวดเร็ว ได้ผลถูกต้อง แม่นยำ ประหยัดงบประมาณ และช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้นำเทคนิคใหม่ในการจำแนกเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราด้วยเครื่อง Matrix-Assisted Laser Desorption/ Ionization Time-of-Flight Mass Spectrometry (MALDI-TOF MS) สามารถทำการตรวจจำแนกเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ โดยการตรวจนี้สามารถนำโคโลนีของเชื้อที่ได้จากการเพาะเชื้อจากสิ่งส่งตรวจด้วยวิธีมาตรฐานมาทำการจำแนกด้วยเครื่อง MALDI-TOF MS ซึ่งใช้เวลาตรวจเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ผลการจำแนกจะได้จากการวิเคราะห์ Spectrum ของเชื้อเปรียบเทียบกับ Spectrum ของเชื้อจากฐานข้อมูลมาตรฐานชื่อว่า SARAMAS โดยฐานข้อมูลนี้มี Spectrum ของเชื้อมากกว่า 1,500 สายพันธ์ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและได้เพิ่มฐานข้อมูลของเชื้อโรคเขตร้อนให้มากขึ้น นับเป็นการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ
                ปัจจุบัน ประเทศชั้นนำของโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นได้นำเทคนิคนี้มาใช้ในการจำแนกเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เพราะมีความถูกต้อง แม่นยำ มีความรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีอื่นมาก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นการลดปัญหาเชื้อดื้อยา
                อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการจำแนกเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราก่อโรคในคนทางห้องปฏิบัติการด้วยการทดสอบทางชีวเคมีแบบดั้งเดิมนั้นมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลานับตั้งแต่การเพาะแยกเชื้อจากสิ่งส่งตรวจ จนถึงการนำโคโลนีที่เจริญบนอาหารเลี้ยงเชื้อไปทดสอบใช้เวลา 2-7 วัน ขึ้นกับชนิดของเชื้อ ค่าใช้จ่ายต่อเชื้อประมาณ 150-250 บาท แต่การตรวจด้วยเทคนิค MALDI-TOF MS ใช้ระยะเวลาการตรวจวิเคราะห์เพียง 3-5 นาที และค่าใช้จ่ายเพียง 20 บาทเท่านั้น ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้นำเครื่อง MALDI-TOF MS มาติดตั้งที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข อาคาร 1 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราก่อโรคในคน ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสม ส่งผลให้การป้องกันและควบคุมโรคของพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น เป็นการช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศได้นอกจากนี้เทคนิคนี้ลดการใช้มีเดียหรืออาหารเลี้ยงเชื้อลงอย่างมากจึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระวังอันตรายจากการปนปลอมยาแผนปัจจุบันในอาหารและเครื่องดื่ม

      กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยการตรวจวิเคราะห์ยาแผนปัจจุบันที่อาจมีการนำมาใช้ผสมในอาหาร เพื่อให้มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างโดยตรวจ 7 กลุ่ม ได้แก่ ยาลดน้ำหนัก ยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาลดความอยากอาหาร ยาระบาย และวัตถุออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

       นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องการให้ผู้บริโภคมีการบริโภคอาหารที่ถูกต้องและปลอดภัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2556-2558 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยเก็บตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่อาจจะมีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม จำนวนทั้งสิ้น 1,160 ตัวอย่าง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 391 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 690 ตัวอย่าง เครื่องดื่ม 49 ตัวอย่าง และอาหารอื่นๆ 30 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้
กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำแนกเป็น กลุ่มยาลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์ 304 ตัวอย่างพบไซบูทรามีน 44 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 14.5 กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 103 ตัวอย่าง พบ 27 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 26.2 โดยพบซิลเดนาฟิล 26 ตัวอย่าง และทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์   ตรวจวิเคราะห์ 155 ตัวอย่าง พบลอราซีแพม 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.6  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำแนกเป็น กลุ่มยาลดน้ำหนัก ตรวจวิเคราะห์ 609 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน 122 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20 กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตรวจวิเคราะห์ 159 ตัวอย่าง พบ 69 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยพบซิลเดนาฟิล 40 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 4 ตัวอย่าง ซิลเดนาฟิลร่วมกับทาดาลาฟิล 20 ตัวอย่าง และซิลเดนาฟิลร่วมกับวาเดนาฟิล  5 ตัวอย่าง กลุ่มยาสเตียรอยด์ ตรวจวิเคราะห์ 51 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 3.9  กลุ่มยาระบาย ตรวจวิเคราะห์ 197 ตัวอย่าง พบฟีนอล์ฟทาลีน 1 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.5 โดยมีผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่ตรวจ พบว่า มียาแผนปัจจุบันถึง 2 กลุ่ม 2 ตัวอย่าง โดยพบไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน และเครื่องดื่ม จำแนกเป็น กลุ่มยาสเตียรอยด์ตรวจวิเคราะห์ 28 ตัวอย่าง พบเดกซาเมธาโซน 6 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 21.4

        นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มียาแผนปัจจุบันผสมอยู่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค จากผลข้างเคียงของยาหรือปริมาณยาที่ได้รับเกินขนาดและอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ผู้ใช้ยาลดน้ำหนัก ที่มีการใช้ไซบูทรามีน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก หรือผู้ใช้ยาลดความอยากอาหารที่มีการใช้เฟนฟลูรามีนอาจก่อให้เกิดภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือผู้ใช้ยารักษา โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ อาจมีอาการหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริโภคที่ประสงค์จะบริโภคอาหารดังกล่าวต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาและหากบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวแล้วเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดการบริโภคทันที และรีบไปพบแพทย์  สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเราเอง โดยใช้หลักการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

เตือนผู้บริโภคระวังอันตรายจากการใช้ยาลดน้ำหนัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้บริโภคระวังอันตรายจากการใช้ยาลดน้ำหนัก หลังตรวจพบยาลดน้ำหนักมีส่วนผสมของยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ หากใช้ไม่ระวังอันตรายถึงชีวิต
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ยาเพื่อลดน้ำหนักเป็นปัญหาที่พบมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 – มกราคม 2559 สำนักยาและวัตถุเสพติดได้ทำการตรวจวิเคราะห์ของกลาง จำนวน 70 ตัวอย่าง พบตัวอย่างที่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน เป็นยาอันตราย 43 ตัวอย่าง และยาควบคุมพิเศษ 8 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบคือยาไซบูทรามีน ซึ่งยาไซบูทรามีนจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น มีฤทธิ์ลดความอยากอาหาร สำหรับยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษอื่นๆ ที่ตรวจพบ ดังนี้ ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน เช่น เฟนเทอร์มีน ซึ่งจะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่ม ทำให้เกิดการเบื่ออาหาร แต่ยานี้ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคไทรอยด์เป็นพิษ เพราะอาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้ ยาระบาย บิสซาโคดิล ยาขับปัสสาวะ ฟูโรซีไมด์ ผู้ใช้ยาดังกล่าวจะรู้สึกผอมลงเร็ว เนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา แต่ผลข้างเคียงคือร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ยารักษาโรคซึมเศร้าและอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล ฟลูโอซีทีน ซึ่งมีผลข้างเคียงในการช่วยทำให้ไม่อยากอาหาร
      นพ.อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ตัวอย่างที่ตรวจพบ บางครั้งอยู่ในรูปแบบของยาที่จัดเป็นชุด ซึ่งประกอบด้วยไซบูทรามีน เฟนเทอร์มีน และบิสซาโคดิล บางตัวอย่างจัดเป็นชุดร่วมกับวิตามินเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรับประทานอาหารน้อยลงและการใช้ยาระบาย  นอกจากนี้ในยาชุดบางตัวอย่างมียานอนหลับรวมอยู่ด้วย เช่น ไดอาซีแปม เนื่องจากผลข้างเคียงของยากลุ่มแอมเฟตามีน จะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ จึงมีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย  ซึ่งยาที่ได้กล่าวมาทุกชนิดจะมีอาการข้างเคียง และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องได้
       นอกจากนี้ยังพบการนำไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ มาใช้ลดน้ำหนัก ซึ่งยานี้มีผลเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็ว แต่มีผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะไทรอยด์ฮอร์โมนจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมากกว่าเดิม และไม่เต็มจังหวะ ทำให้แต่ละครั้งของการเต้นสูบฉีดเลือดได้น้อยลง จึงมีความเสี่ยงสูงกับคนที่มีปัญหาภาวะหัวใจ “ยาที่กล่าวมาข้างต้นหากใช้โดยแพทย์ในขนาดที่ถูกต้องก็ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ แต่ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยไม่เข้าใจถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็สามารถทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายได้” นพ.อภิชัย กล่าวทิ้งท้าย

การประชุมคณะทำงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในกิจกรรมร่วมของคณะทำงานในปี พ.ศ. 2559

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมทางไกลคณะทำงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ครั้งที่ 3ว่า ในการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 ที่ประชุมได้ให้ความสําคัญในเรื่องยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก 3 ด้าน คือ การป้องกัน เฝ้าระวัง และ ตอบโต้ต่อโรคระบาดข้ามพรมแดน (Prevent, Detect, Respond) รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพของประเทศ สมาชิกองค์การอนามัยโลกในการดําเนินการตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulation 2005) ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงที่จะเป็นผู้นำใน 2 ชุดกิจกรรม คือ Detect 1: National Laboratory System คือ ชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคที่แม่นยำ รวดเร็ว ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และ Detect 5: Work force Development คือ พัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา ทำหน้าที่เฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรค
               
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2559 ประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม  Detect 1: National Laboratory System โดยล่าสุดได้มีการประชุมกลุ่มผู้นำของชุดกิจกรรมเฝ้าระวัง 1: ด้านการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ ของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ครั้งที่ 3 (The 3rd Package Conference call for Global Health Security Agenda (GHSA), Detect 1: National Laboratory System) ผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากกลุ่มประเทศผู้นำ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และประเทศไทย และมีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้เห็นพ้องและสนับสนุนในประเด็นความร่วมมือดังต่อไปนี้
 
(1) กิจกรรมร่วมของกลุ่มประเทศผู้นำ ปี พ.ศ. 2559 นำเสนอโดยประเทศไทย ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ Joint External Evaluation (JEE) การจัดตั้งระบบส่งต่อตัวอย่างส่งตรวจในภูมิภาค และการจัดเวทีประชุมระดับนานาชาติเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน 
 
(2) การเห็นชอบแผนการดำเนินการประจำปี พ.ศ. 2559
 
(3) การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคครั้งที่ 1 (The 1st Regional Workshop) ในหัวข้อ Enhancing Regional Partnership towards Strengthening Laboratory System in Accelerating GHSA’s Implementation ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2559 โดยจะมีการประชุมระดับผู้นำของประเทศผู้นำในชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ด้วย
 
การประชุมคณะทำงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุข ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ครั้งต่อไปจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เวลา 19.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย)
 
“วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA : Global Health Security Agenda) มีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการควบคุมป้องกันโรค และภัยสุขภาพรุนแรงในประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 24 ประเทศ ผลักดันให้แต่ละประเทศเพิ่มศักยภาพการป้องกันควบคุมโรคให้มีความเข้มแข็ง และมีแผนความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาค” นพ.อภิชัย กล่าว

GLOBAL HEALTH SECURITY ACTION PACKAGE- NATIONAL LABORATORY SYSTEM (DETECT 1)

Chaired by Dr. Apichai Mongkol, Director General of Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand, hosted by Thailand on 31 March 2016, the 3rd Package Conference call via VDO conference has reached an agreement on joint collaborative efforts in for 2016’s Global Health Security Agenda (GHSA) activities, Detect 1: National Laboratory System.


Attended by representatives of lead countries including USA, South Africa, and Thailand as well as   WHO and USAID, highlights are as follows;

1.     Identified joint activities among lead countries: promoting utilization of the Joint External Evaluation (JEE); establishing regional specimen referral system; and convening international platforms for sharing experiences and lesson learnt;
2.     Agreed on activities for 2016 annual plan; and
3.     Welcomed and supported the 1st Regional Workshop Enhancing Regional Partnership towards Strengthening Laboratory System in Accelerating GHSA’s Implementation to be held in Thailand on 27 29 July 2016 and Face – to face Meeting of Lead Countries on 28 July 2016.
GHSA, launched in 2014 to promote global health security as an international security priority, aims to   enhance and complement an implementation of an International Health Regulation 2005 by addressing cross-sectoral approach. Proceeding its leadership further, Thailand takes leadership on two Actions Packages including Detect 1: National Laboratory System” and “Detect 5: Workforce Development”.

In 2016, Thailand through the Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health, Thailand leads in Package Conference Call for Detect 1: Lab Strengthen System. The next video conference call will be on 31 May 2016, 7 pm, Thailand time.
-------------------------
Contact
Mr. Kanate Temtrirath
Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health
88/7 Tiwanon RdAmphoe Muang, Nonthaburi, Thailand 11000
Tel: 02 589 0022, 02 951 000
E-mail: kanate.t@dmsc.mail.go.th

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนภัยสารฟอกขาวในตะเกียบไม้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลตรวจพบสารฟอกขาวตกค้างในตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง แต่ไม่เกินกฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่เป็นตะเกียบที่ทำจากไม้ฉำฉาแบบเดียวกับไม้ที่ใช้ทำลังใส่ของ ซึ่งจะมีสีคล้ำ ทางผู้ประกอบการจึงใส่สารฟอกขาว เพื่อให้ดูน่าใช้ แนะผู้บริโภคควรสังเกตหากพบว่าตะเกียบที่มีเนื้อไม้ขาวจัดและมีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรนำมาใช้หรือหันไปใช้ตะเกียบแบบใช้ซ้ำที่ล้างทำความสะอาดได้

    นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ส่วนประเทศไทยนิยมใช้สำหรับอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว ตะเกียบอาจทำมาจากไม้   หรือโลหะหรือพลาสติก แต่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นตะเกียบไม้ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาทำตะเกียบ คือไม้ไผ่ ไม้โมกข์ และไม้ฉำฉา เนื่องจากมีสีขาว เนื้อละเอียด ไม่ทำให้อาหารมี สี กลิ่น รส ผิดเพี้ยนไปแต่อาจมีการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกเนื้อไม้ให้ขาวและป้องกันเชื้อรา ปัจจุบันร้านอาหารนิยมใช้ตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อความสะดวกและเพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันเชื้อโรคติดต่อระหว่างกันได้ ทั้งนี้เคยมีข่าวที่ประเทศไต้หวันตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในตะเกียบ เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งประเทศไต้หวันได้กำหนดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
 
    ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulphur dioxide) เป็นสารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์หรือที่รู้จักกันว่าสารฟอกขาวที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อนในกระบวนการผลิตและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ ราและบักเตรีได้ดี สามารถนำสารนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอาหาร ผักผลไม้อบแห้ง วุ้นเส้นและลูกกวาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้สารนี้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น นำไปใช้ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษและสบู่ เป็นต้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เมื่อใช้ในปริมาณต่ำ แต่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แพ้ง่าย เช่น ทำให้เกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก คันคอ หรือเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพอง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับหรือค่า ADI ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน 
 
     นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ในปี พ.ศ. 2548 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้เก็บตัวอย่างตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ 11 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ โดยชุดทดสอบภาคสนาม ไม่พบสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้สุ่มตรวจตะเกียบ 8 ตัวอย่าง และไม้จิ้มฟัน 2 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบทั้ง 8 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 19.4- 256.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไม้จิ้มฟันตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ  4.2  มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อทดสอบการละลายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ออกมาจากตะเกียบโดยการนำมาแช่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 5 นาทีแล้วนำน้ำมาตรวจวิเคราะห์พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ละลายออกมาอยู่ในช่วง 2-91.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม   ประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในตะเกียบ แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายของประเทศไต้หวันพบว่าปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐาน
 
     ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังดำเนินการตรวจการตกค้างของสารฟอกขาวในตะเกียบซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2559 นี้ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายทั้งตลาดสด ตลาดค้าส่ง และค้าปลีก ตรวจวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตะเกียบ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการเฝ้าระวังได้ต่อไป  อย่างไรก็ตามซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่จะมีผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือคนที่แพ้ง่ายจะมีอาการทันที ดังนั้นผู้บริโภคที่ใช้ตะเกียบในการบริโภคอาหาร จึงควรสังเกตหากพบว่าตะเกียบมีเนื้อไม้ขาวจัดและมีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรใช้หรืออาจไปใช้ตะเกียบแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถล้างให้สะอาดได้ก่อนใช้

กรมวิทย์ฯ เชิดชูผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์


     กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบรางวัล DMSc Award เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขจำนวน 6 รางวัล พร้อมมีการนำเสนอผลงานวิชาการในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 21 – 23 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

     นายแพทย์อภิชัย  มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่  21 – 23 มีนาคม 2559 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยปีนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานและพระราชทานโล่รางวัล DMSc Awards 2559 เพื่อเชิดชูผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดีเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข ได้แก่การพัฒนางานทางห้องปฏิบัติการ การค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่ๆ การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยปีนี้มีรางวัลแบ่งเป็น 3 ประเภทผลงาน ได้แก่  ชนะเลิศประเภทการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  เรื่อง “การศึกษาวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบบูรณาการในประเทศไทย” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยที่ประกอบด้วยการศึกษาวิจัยอุบัติการณ์โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทย การรักษา การตรวจวินิจฉัย และการประเมินผู้ป่วยในมิติต่างๆ ที่จะส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวโดยเป็นผลงานตีพิมพ์ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาถึง 13 เรื่อง

     รางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “แนวปฏิบัติการล้างไตทางช่องท้อง” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งหนังสือเนื้อหากว่า 1,000 หน้า เป็นแนวปฏิบัติสำหรับแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างสมบูรณ์  และชนะเลิศประเภทการพัฒนาคุณภาพการบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “กรรมวิธีการตรวจหาและจำแนกเชื้อมาลาเรียในตัวอย่างเลือดด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับเทคนิคแอลเอฟดี” โดย ดร.สุกัญญา ยงเกียรติตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผลงานประดิษฐ์การตรวจวินิจฉัยเชื้อมาลาเรียด้วยเทคนิคแลมป์ (ตรวจสารพันธุกรรม) บนแผ่นสตริปซึ่งช่วยให้สามารถดูผลได้รวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกว่าเป็นมาลาเรียชนิด falciparum หรือ vivax ในแผ่นเดียวได้ด้วย

      ส่วนผลงานรองชนะเลิศมี 3 รางวัล  ได้แก่  ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยครบวงจรเพื่อพัฒนา   กวาวเครือขาวเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาผลของกวาวเครือขาวในการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยใช้หนูและลิงเป็นโมเดลการวิจัย และผลงานวิจัย เรื่อง “Plasmodium serine hydroxymethyltransferase for anti-malarial drug development” โดย ดร.อุบลศรี  เลิศสกุลพานิช  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผลการวิจัย ทาง proteomics พิสูจน์โครงสร้างเป้าหมายยาซึ่งเป็นกระบวนการค้นคว้ายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ และผลงานรองชนะเลิศสุดท้ายคือหนังสือ เรื่อง “โรคของไส้ตรงและทวารหนักที่พบบ่อย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วรุตม์ โล่สิริวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนังสือสำหรับแพทย์ว่าด้วยเรื่องการวินิจฉัย การรักษา การใช้ยา และการผ่าตัดโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่เรียบเรียงจากการศึกษาวิจัยและประสบการณ์ของผู้แต่ง

      นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ให้แก่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีผลการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก เช่นโรคเอดส์ ท่านเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการศึกษาวิจัยโรคเอดส์ทางห้องปฏิบัติการกว่า 20 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์  และโรคตับอักเสบ ร่วมศึกษาวิจัยไวรัสตับอักเสบทางห้องปฏิบัติการ จนส่งผลให้มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ใช้ในประเทศไทย เป็นต้น โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า   จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
สำหรับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปีนี้ ได้จัดภายใต้หัวข้อ “Smart Medical Sciences Smart Life : ใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์”  ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมส่งผลงานวิชาการจำนวน 178 เรื่อง แบ่งเป็นผลงานวิชาการสาขานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 23 เรื่อง สาขาโรค 45 เรื่อง สาขาคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 67 เรื่อง สาขาสมุนไพร 24 เรื่อง และสาขาเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข 19 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จะมาบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการครั้งนี้ด้วย

บริโภคขนมจีน-ก๋วยเตี๋ยวอย่างไรให้ปลอดภัย


 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะผู้บริโภคไม่ควรบริโภคอาหารชนิดเดียวซ้ำๆ และบริโภคในปริมาณมากๆ  โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาค้างไว้นานๆ  หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้น ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นก่อนรับประทาน
               นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนไทยนิยมบริโภคอาหารประเภทเส้นรองจากข้าว ซึ่งอาหารเส้นที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ขนมจีนและก๋วยเตี๋ยว แต่เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศค่อนข้างร้อน ทำให้อาหารมีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการบางรายที่ผลิตเส้นขนมจีนและเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้วัตถุกันเสียหรือที่เรียกว่าสารกันบูดในการผลิต โดยวัตถุกันเสียที่นิยมใช้กันคือ กรดเบนโซอิก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ในอาหารไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (JECFA) ได้กำหนดเกณฑ์ความปลอดภัย (ADI) ของกรดเบนโซอิกไว้เท่ากับ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
 
                กรดเบนโซอิก นิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหารหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อาหารหมักดอง รวมถึงใช้สำหรับรักษาคุณภาพของเครื่องสำอางและยาสีฟัน โดยกรดเบนโซอิกสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ความเป็นพิษของกรดเบนโซอิกหากได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียได้  หากได้รับในปริมาณน้อยร่างกายจะสามารถขับออกให้หมดไปได้   แต่หากได้รับในปริมาณมากและหรือได้รับทุกวันอาจเกิดการสะสมจนถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้  ดังนั้นผู้บริโภคไม่ควรบริโภคอาหารชนิดเดียวซ้ำๆ และบริโภคในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาค้างไว้นานๆ  หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้น ควรเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน

           นายแพทย์อภิชัย  กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา (ปีพ.ศ. 2555-2557)  สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เฝ้าระวังการใช้วัตถุกันเสียในอาหารประเภทเส้นโดยตรวจวิเคราะห์อาหารประเภทเส้นจำนวน 192 ตัวอย่าง พบว่ามีการใช้กรดเบนโซอิกจำนวน 136 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 70.8 โดยมีการใช้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจำนวน 33 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.2  โดยเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นใหญ่มีการใช้กรดเบนโซอิกทุกตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 94.3 - 2,633 ในขณะที่เส้นขนมจีนพบการใช้กรดเบนโซอิกร้อยละ 87.5 ปริมาณที่ใช้อยู่ในช่วง 166 - 1,272 เส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดเส้นเล็ก พบการใช้กรดเบนโซอิกร้อยละ 82.4 ปริมาณที่ใช้อยู่ในช่วง 20 - 3,474  จากข้อมูลดังกล่าว สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้นำมาประเมินความปลอดภัยในการผู้บริโภค โดยได้เผยแพร่ผลการประเมิน ตลอดจนข้อมูลความรู้ ข้อแนะนำสู่ประชาชน ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบริโภค