เจนจัดชัดเจน : เมื่อยาบ้า...ร้ายน้อยกว่าเหล้า สํานักข่าวไทย 26 June 2016

ถอด”ยาบ้า”จากยาเสพติด ดีจริงหรือ? Mono29, 25 June 2016

สธ.เปิดห้องปฏิบัติการพิษวิทยา ตรวจสารกำจัดศัตรูพืชกว่า 500 ชนิดแห่งแรกของไทย


เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ เปิดห้องปฏิบัติการพิษวิทยากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกของไทย ที่สามารถตรวจสารกำจัดศัตรูพืชได้ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด  รองรับการส่งออกผักผลไม้ไทยจำหน่ายต่างประเทศ ว่า จากกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ส่งคืนผักผลไม้ของไทย เนื่องจากตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้รัฐบาลไทยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการพิษวิทยาขึ้น ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถตรวจสารกำจัดศัตรูพืชได้ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ตามที่อียูกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับห้องปฏิบัติการพิษวิทยา หรือศูนย์พิษวิทยา ตั้งอยู่ที่อาคาร 9 สังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการด้านพิษวิทยา และชีวเคมี พัฒนาการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 500 ชนิด ในผักและผลไม้เพื่อการส่งออก และการพิสูจน์เห็ดพิษด้วยวิธีดีเอ็นเอบาร์โค้ด  รวมถึงเป็นผู้ดำเนินแผนทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการด้านพิษวิทยา นอกจากนี้ ยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านพิษวิทยาให้การสนับสนุนด้านวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ห้องปฏิบัติการเครือข่าย ตลอดจนนำองค์ความรู้ด้านพิษวิทยาสื่อสารเตือนภัยสุขภาพให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเปิดให้บริการตรวจผักผลไม้ ในเร็วๆ นี้  ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี โทร.02-9510000 ต่อ 99717,  99492, 99722

ที่มา : มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news/252312

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังคุณภาพนมโรงเรียนทั่วประเทศ


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังคุณภาพนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์และยูเอชทีทั่วประเทศ โดยตรวจวิเคราะห์ทางด้านโภชนาการและด้านจุลชีววิทยา เพื่อควบคุมคุณภาพและคุ้มครองผู้บริโภคให้เด็กนักเรียนไทยได้ดื่มนม ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 ศูนย์ทั่วประเทศ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเฝ้าระวังคุณภาพของนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์และยูเอชที โดยตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านโภชนาการ ได้แก่ เนื้อนมไม่รวมไขมัน ไขมัน และโปรตีน และด้านจุลชีววิทยา ได้แก่ จำนวนแบคทีเรียทั้งหมด จุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต เช่น เชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform) และเชื้ออีโคไล (E. coli) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) เชื้อลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) และเชื้อสเเตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureusตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 350 (พ.ศ. 2556) เรื่องนมโค ซึ่งในช่วงปี 2555-2558 ได้ตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียน จำนวน 1,750 ตัวอย่าง (ชนิดพาสเจอร์ไรส์ 1,190 และยูเอชที 560 ตัวอย่าง) ผลการตรวจ พบว่า ไม่ได้มาตรฐาน 436 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.9 ในจำนวนนี้เป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ 321 ตัวอย่าง และยูเอชที 115 ตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการ 290 ตัวอย่าง ด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา 51 ตัวอย่าง ด้านโภชนาการส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเนื้อนมไม่รวมไขมันต่ำกว่ามาตรฐาน ทางด้านจุลชีววิทยาพบว่านมชนิดพาสเจอร์ไรส์ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 6.9 จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี ร้อยละ 3.1 และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 3.8 ขณะที่ชนิดยูเอชที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากพบแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 2.9  เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 0.9
จากข้อมูลการตรวจพบนมโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมมือกันวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาคุณภาพนมโรงเรียนและเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจัง สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคนมโรงเรียนว่ามีความปลอดภัย เด็กไทยมีโภชนาการที่ดีมีพัฒนาการที่สมวัยและไม่มีเด็กที่จะต้องได้รับผลกระทบจากนมที่ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ข้อแนะนำในการดื่มนมให้ได้ประโยชน์และปลอดภัย นมพาสเจอร์ไรส์ เป็นนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและลดปริมาณจุลินทรีย์ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 7-10 วัน และมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ตั้งแต่โรงงานผลิต ระหว่างการขนส่งนมไปยังโรงเรียน จนถึงการเก็บรักษาที่โรงเรียนก่อนแจกจ่ายให้นักเรียนดื่ม และก่อนดื่มควรสังเกตเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนมมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน และมีสี กลิ่น รสปกติ ส่วนนมยูเอชทีเป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 133 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายจุลินทรีย์ จึงสามารถ เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นาน 6-9 เดือน แต่ไม่ควรเก็บนมไว้ที่อุณหภูมิสูง และไม่วางกล่องนมให้ถูกแสงแดดโดยตรง ในการขนส่งและเก็บรักษา ควรบรรจุกล่องนมในลังกระดาษและไม่ซ้อนลังหลายชั้น เพราะกล่องนมอาจเสียหาย เกิดรอยรั่วซึม ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในกล่องนมทำให้นมเสียได้ และเมื่อเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมด ควรนำนมที่เหลือไปเก็บไว้ในตู้เย็นและดื่มให้หมดภายใน 3-5 วัน

“จีเอชบี” ภัยร้ายสำหรับผู้หญิง



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้หญิงให้ระวังภัยจาก “จีเอชบี” ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับ หมดสติ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อมอมยา และล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในสถานบันเทิง
       นายแพทย์อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  จีเอชบี (Gamma-hydroxybutyrate) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงของยามาก และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิดเพิ่มขึ้น ทำให้ถูกเพิกถอนทะเบียนไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 ปัจจุบันยังพบการใช้จีเอชบีในสถานบันเทิง มักถูกนำมาใช้ทดแทนยาอี เนื่องจากมีฤทธิ์ใกล้เคียงกัน
        จีเอชบีมีทั้งที่เป็นผง เม็ด ในรูปแบบยา หรือในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสีและกลิ่น เมื่อรับประทานจีเอชบีเข้าไปจะทำให้เคลิบเคลิ้ม นอนหลับ ออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-20 นาที และออกฤทธิ์นาน 1.5-3 ชั่วโมง 
ถ้าใช้จีเอชบีร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยากดประสาทอื่นๆ จะทำให้ฤทธิ์ของยาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการชัก กดการหายใจ หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ในต่างประเทศพบรายงานการเสียชีวิตจากการใช้จีเอชบีค่อนข้างสูง รวมถึงพบการใช้สารที่มีสูตรโครงสร้างใกล้เคียงกับจีเอชบี ได้แก่ จีบีแอล (Gamma-butyrolactone) และ 1,4-บิวเทนไดออล ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนให้เป็นจีเอชบี และทำให้เสพติดได้
         นายแพทย์อภิชัย  กล่าวต่ออีกว่า  ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของเหลวใส ไม่มีสี เพื่อดำเนินคดี จำนวน 7 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบจีเอชบี แต่พบจีบีแอล 1 ตัวอย่าง และ 1,4-บิวเทนไดออล 6 ตัวอย่าง ทั้งนี้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออล จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ไม่มีการควบคุมเป็นยาเสพติดตามอนุสัญญาสหประชาชาติ
และการควบคุมทางกฎหมายจะแตกต่างกันในหลายประเทศ
           “จากข้อมูลการตรวจพิสูจน์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะพบว่านอกจากภัยร้ายสำหรับผู้หญิงจากการใช้จีเอชบีในทางที่ผิดแล้ว ยังพบแนวโน้มที่จะใช้จีบีแอล และ 1,4-บิวเทนไดออลอีกด้วย และคาดว่าจะใช้ทดแทน จีเอชบีที่มีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยหญิงสาวไม่ควรเที่ยวในสถานบันเทิงเพียงคนเดียว ควรมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ไปด้วย และระมัดระวังในการดื่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะจากคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้” นายแพทย์อภิชัย กล่าวทิ้งท้าย

กรมวิทย์ฯ เชิดชูชุมชนต้นแบบ แจ้งเตือนภัยสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ผ่าน อสม.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดเลือกหน่วยงานต้นแบบการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับประเทศ ประจำปี 2559    
นายแพทย์อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และสถานีอนามัยพระราชทานนาม ระดับประเทศ ประจำปี 2559 ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดตั้ง Single Window เตือนภัย หรือ “หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจยืนยันวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแจ้งเตือนภัยทาง “หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ”  (www.tumdee.org/alert)  เชื่อมโยงกับงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในชุมชนของสถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และสถานีอนามัยพระราชทานนาม อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี “ศูนย์แจ้งเตือนภัย เฝ้าระวัง และรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน” ต้นแบบในขณะนี้ 120 แห่ง มี อสม.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ประมาณ 3,000 คน    ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ความรู้ทักษะการใช้ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในชุมชน สอดส่องดูแลการแพร่กระจายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สุ่มเสี่ยง เพื่อแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญ คือ การให้ความรู้ต่อครอบครัว เพื่อนบ้าน และคนในชุมชนที่ตนเองดูแล
“ศูนย์แจ้งเตือนภัยฯ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และสถานีอนามัยพระราชทานนาม” ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหน่วยงานต้นแบบ ระดับภาค ในปี พ.ศ. 2559 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง คือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บ้านน้ำใส ต.น้ำเป็น อ.เขาชะเมา จ.ระยอง  ภาคเหนือ คือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บ้านกลาง ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกภาคใต้ คือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี บางม่วง ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี นาม่วง ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ขอแสดงความยินดีกับสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี ทั้ง 4 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบในระดับภาค ประจำปี 2559 นี้ด้วย
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า การที่ อสม. นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ของศูนย์แจ้งเตือนภัยฯ แต่ละแห่ง ได้รับปลอกแขนความสามารถเป็นเครื่องยืนยันความสามารถในการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถือเป็นก้าวใหม่ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  นำข้อมูล “หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ” เฝ้าระวังภัยในชุมชนตนเอง สร้างความตระหนักรู้ให้สมาชิกไม่เป็นเหยื่อ หลงเชื่อ หลงใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย และชุมชนกำหนดมาตรการป้องกันจัดการปัญหาภัยสุขภาพโดยมติของประชาคม โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี่ที่เหมาะสมให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง มีศูนย์แจ้งเตือนภัยฯ ในชุมชน   สร้าง อสม.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถจัดการสุขภาพตนเองได้อย่างยั่งยืน

กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ WHO จัดประชุมครั้งแรกของโลกให้ความรู้ความเข้าใจและแนวทางการควบคุมคุณภาพวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแก่หน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐและผู้ผลิตวัคซีนของแต่ละประเทศ




กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววัตถุ ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง“WHO Workshop on Implementation of Recommendation to Assure the Quality, Safety and Efficacy of Recombinant Human Papillomavirus Virus-Like Particle Vaccines ครั้งที่ 1” เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐ  รวมถึงผู้ผลิตวัคซีนของแต่ละประเทศมีความเข้าใจ สามารถนำความรู้ไปใช้และให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติ   ขององค์การอนามัยโลกในการควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV
                   
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เชื้อไวรัส HPV เป็นไวรัสที่พบมากที่สุด  ของการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ทั้งในหญิงและชายและเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก แม้ว่าส่วนใหญ่ของการติดเชื้อ HPV ไม่ก่อให้เกิดอาการหรือโรค แต่หากติดเชื้อถาวรในสายพันธุ์ที่ก่อโรค ส่งผลให้เกิดโรคเช่นกัน การให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นจะต้องให้ในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPVได้ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ปรับปรุงแนวทางการควบคุมกำกับคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีน HPV ให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคของวัคซีน HPV ให้มีข้อมูลควบคุมตั้งแต่การผลิต การควบคุมคุณภาพ จนถึงการวิจัยทางคลินิก เพื่อประเมินคุณภาพองค์ประกอบที่เป็นวัคซีนรวมหลายสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV ที่มีการผลิตในหลายประเทศและอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยทางคลินิก การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ได้จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐและผู้ผลิตมีความเข้าใจในแนวทางขององค์การอนามัยโลก และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐและผู้ผลิตของแต่ละประเทศ ส่งเสริมการดำเนินการตามคำแนะนำที่สอดคล้องกัน
                นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววัตถุ ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้ความรู้ในเรื่องของการวิจัยทางคลินิกของวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนแล้ว ในหลายประเทศ เช่น วัคซีน HPV ชนิด bivalent (Type 16 และ 18) และวัคซีน HPV ชนิด quadrivalent (type 6, 11, 16 และ 18) รวมถึงวัคซีน HPVชนิด 9-valent (type 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45 52 และ 58) และวัคซีน HPV ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยทางคลินิกจากประเทศอินเดีย และ จีน เป็นต้น ตลอดจนพิจารณากรณีศึกษาการวิจัยทางคลินิก เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการประเมินคุณภาพประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
                 ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยบุคลากรจากหน่วยงานควบคุมกำกับภาครัฐรวมถึงผู้ผลิตวัคซีนของแต่ละประเทศผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ผู้แทนจากประเทศบังคลาเทศ เบลเยี่ยม ภูฐาน อังกฤษ อินเดีย  อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย จีน เนปาล ศรีลังกา เวียดนาม และไทย รวมทั้งสิ้น 45 คน โดยมีเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) ระดับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก (WHO WAPRO) และระดับภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก (WHO EMRO) ร่วมด้วย

หมอชี้น้ำดื่มขวดพลาสติกเก็บในรถนานๆไม่ก่อสารพิษ ทดลองแล้ว อย่าหลงเชื่อโลกออนไลน์ - มติชนออนไลน์

วันที่ 2 มิถุนายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์เตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่เก็บในหลังรถยนต์และจอดกลางแดดโดยมีโอกาสได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติกเนื่องจากอากาศร้อนจัดอาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งอื่นๆ ได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัวถึงอันตรายจากการดื่มน้ำบรรจุ ขวดพลาสติก

 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งมีภารกิจ ในการวิเคราะห์ วิจัยทางด้านไดออกซิน น้ำดื่ม และวัสดุสัมผัสอาหาร  ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวเพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคดังนี้ สารไดออกซิน (Dioxins) เป็นชื่อกลุ่มสารที่มีโครงสร้างและสมบัติทางเคมีใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และสารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล ที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs) ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน  
  
นพ.อภิชัย กล่าวว่ากระแสข่าวเรื่องไดออกซินละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ร้อนๆ เช่น หลังรถยนต์นั้น เป็นเหมือนเรื่องเล่าต่อๆ กันมาโดยปราศจากแหล่งข้อมูลที่แน่ชัด ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็ง ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้ 

ความจริงคือขวดพลาสติกขนาดเล็ก ปัจจุบันมีอยู่2ชนิดคือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติกชนิด PE (พอลิเอทิลีน) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิด PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต)ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น 

สำหรับขวดบรรจุน้ำชนิดเติมซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20ลิตรมี3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก  ชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) และขวดพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะท้าให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค
   
 "เพื่อความชัดเจน ห้องปฏิบัติการไดออกซิน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ  และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน 17 ตัว และพีซีบี  18 ตัว 

โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง ดังนั้น จึงอยากเตือนผู้บริโภคควรพิจารณาแหล่งของข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับจากสื่อสังคมออนไลน์และตรวจสอบที่มาด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
   
อนึ่ง สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แหล่งกำเนิดสำคัญของสารกลุ่มนี้คือกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น การสร้างกลุ่มสาร ไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้

ที่มา : มติชนออนไลน์

ถามตรงๆ กับจอมขวัญ : แป้ง = มะเร็ง กับ นพ.อภิชัย มงคล | 25-02-59 | ไทยรั...