เจนจัดชัดเจน : เมื่อยาบ้า...ร้ายน้อยกว่าเหล้า สํานักข่าวไทย 26 June 2016

ถอด”ยาบ้า”จากยาเสพติด ดีจริงหรือ? Mono29, 25 June 2016

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนอันตรายจากเห็ดพิษ


       ศูนย์พิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยในแต่ละปีได้รับตัวอย่างเห็ดพิษที่ส่งมาตรวจจำนวนมาก พบว่าไม่สามารถแยกความแตกต่างของเห็ดพิษได้จากลักษณะภายนอก เพราะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้บางชนิดคล้ายคลึงกันมาก  โดยเฉพาะระยะดอกอ่อน ปัจจุบันจึงได้พัฒนาวิธีการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์เห็ดพิษ โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด (DNA barcoding) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำสูง เชื่อถือได้ และเตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้น

     นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีช่วงต้นฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาประกอบอาหาร รวมทั้งการนำไปขาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า เห็ดที่เก็บมานั้นไม่มีพิษ โดยใช้ความรู้พื้นบ้านที่บอกต่อกันมา แต่ตามลักษณะภายนอกของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้บางชนิด  มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระยะดอกอ่อนของเห็ด จะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งความรู้และความเชื่อที่สอนสืบทอดกันมาในการทดสอบเห็ดพิษ เช่น การนำข้าวสารมาต้มกับเห็ดถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือการสังเกตดอกเห็ด  ที่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกินจะเป็นเห็ดไม่มีพิษนั้น วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถให้ผลถูกต้องทั้งหมด จึงไม่ควรนำมาปฏิบัติ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

      ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประเมินสถานการณ์การเกิดพิษ  จากการรับประทานเห็ดพิษในประเทศไทย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2558 อุบัติการณ์ดังกล่าวพบมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็ดพิษมีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น เห็ดระโงกหิน ซึ่งปริมาณสารพิษที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการรับประทานเห็ดสดประมาณครึ่งดอก จัดว่าเป็นสารพิษในเห็ดร้ายแรงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นการต้ม ทอด ย่าง ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว นอกจากนี้ยังมีเห็ดบางชนิดที่โดยปกติตัวเห็ดเองไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะปรากฏเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24-72 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังรับประทานเห็ดชนิดนั้น จะมีอาการหน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรง เห็ดที่พบสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เห็ดน้ำหมึก เป็นต้น
       อาการของผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดว่ามีสารพิษอยู่ในกลุ่มใด อาจจะเกิดขึ้นภายหลัง การกินไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมงหรือหลายวัน หรือในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตภายใน 1-8 วัน สาเหตุเกิดจากการที่ตับและไตถูกทำลาย ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าสู่ร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดสด (ถ้ามี) ที่เหลือจากการปรุงอาหารที่รับประทานไปด้วย เพื่อส่งตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ
        นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้พัฒนาวิธีการตรวจสายพันธุ์เห็ดพิษ  โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอบาร์โค้ด (DNA barcoding) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการระบุชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยใช้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอมาตรฐานเทียบกับฐานข้อมูลอ้างอิงทางพันธุกรรม ซึ่งผลการศึกษาการใช้เทคนิคดังกล่าวพบว่าให้ผลวิเคราะห์สายพันธุ์เห็ดพิษที่ถูกต้องแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ เทียบเท่าการตรวจด้วยเครื่องมือชั้นสูง LC-MS นอกจากนี้ยังช่วยค้นพบสายพันธุ์เห็ดพิษที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน จัดทำเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมระดับโมเลกุลของเห็ดพิษในประเทศไทยและจะมีการพัฒนาเป็นชุดทดสอบเห็ดพิษเบื้องต้นต่อไป

Share this

Previous
Next Post »